โรงเรียนอนุบาลแม่สาย ( สายศิลปศาสตร์ ) เดิมมีชื่อว่าโรงเรียนบ้านแม่สาย 1 ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 1 ตำบล แม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เริ่มทำการก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2474 โดยราษฎรเป็นผู้สละทุนทรัพย์ และแรงงานในการก่อสร้างทั้งสิ้น ตามแปลน ป.4 พิเศษ ของกระทรวงธรรมการ ขนาด 8 ห้องเรียน เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น สร้างในที่ดินจำนวน 11 ไร่ 2 งาน ซึ่งนายแช่ม คารมคม เป็นผู้ยกที่ดินดังกล่าวให้เป็นสมบัติของกระทรวงศึกษาธิการ และได้เริ่มเปิดสอนเป็นครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2476 เป็นต้นมา และมาหยุดชะงักชั่วคราวเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารหลังนี้ใช้เป็นที่พักชั่วคราวของทหารไทย เมื่อสงครามยุติลงจึงได้ทำการเปิดสอนเป็นปกติตลอดมา
ต่อมาการค้าในแม่สายขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว นายอดิศร วิชิตตระการ นักธุรกิจจากกรุงเทพมหานครได้เสนอเป็นศูนย์การค้าแม่สาย โดยให้เช่าปีละ 15,000 บาท มีกำหนด 25 ปี จึงยกสิ่งก่อสร้างทั้งหมดเป็นของทางราชการในนามองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ทางจังหวัดจึงได้ตั้งคณะกรรมการ 1 ชุด เพื่อพิจารณา และวางเงื่อนไขในการขอเช่าที่ดินในที่สุด คณะกรรมการลงความเห็นให้เช่าได้แต่มีข้อผูกพันว่าผู้เช่าจะต้องหาที่ดินที่มีเนื้อที่มากกว่าเดิม และปลูกสร้างอาคารเรียนหลังใหม่จำนวน 16 ห้องเรียน
ผู้เช่าได้ชื้อที่ดินบริเวณหลังโรงไฟฟ้าแม่สาย หมู่ที่ 1 ต.แม่สาย จำนวน 15 ไร่ 2 งาน คณะกรรมการโดยมี นายประสิทธิ สงวนน้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้นเป็นผู้ลงนามในสัญญา ผู้เช่าจึงเริ่มปลูกสร้างอาคารเรียนแบบเเปลน 108 พิเศษ จำนวน 16 ห้องเรียน 1 หลัง ห้องประชุม 1 หลัง สนามบาสเก็ตบอลขนาดมาตรฐาน มีรั้วคอนกรีตด้านหน้า และติดตั้งไฟฟ้า การก่อสร้างได้เสร็จเรียบร้อย เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ทางโรงเรียนจึงได้ประกอบพิธีเปิดป้ายนามอาคารเรียนหลังนี้เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2515 และย้ายนักเรียนจากที่เดิมมาเรียนที่อาคารเรียนหลังใหม่นับแต่นั้นเป็นต้นมา และในปีเดียวกันนี้ทางโรงเรียนได้ขยายชั้นเรียน ถึงระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย (ป.5-ป.7) มีนายอุทัย ปรีชา เป็นครูใหญ่ และปัจจุบันทางโรงเรียนได้เปิดทำการเรียนการสอนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้หลักสูตรฉบับพุทธศักราช 2551 (ปรับปรุง พ.ศ. 2560) ซึ่งมีทั้งหมด 5 หลักสูตรย่อย คือ หลักสูตรห้องเรียนปกติ, หลักสูตรห้องเรียนภาษาจีน(Intensive Chinese Course), หลักสูตรห้องเรียนภาษาอังกฤษเข้ม (Intensive English Course), หลักสูตรห้องเรียนสองภาษา ( Mini English Program) และหลักสูตรวิทยาศาสตร์พลังสิบ โดยปัจจุบันมี นายปรีชา กาวิใจ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน